1. เทคนิคการเรียน
1.1 ระหว่างการเรียน
- หากพอมีเวลาควรอ่านสรุปเนื้อหาคร่าวๆ ก่อนเรียน เปรียบเทียบกับ Course outlineเพื่อจะได้มีข้อมูลโดยสังเขปว่าอาจารย์แต่ละคนมีขอบเขตเนื้อหาการ สอนอย่างไร
- ควรจดตามที่อาจารย์สอน หากมีเอกสารประกอบการเรียนก็ให้จดในลงไปในเอกสารเมื่อเวลาเอามาอ่านทบทวนจะ ได้ทราบความหมายได้ชัดเจน (ควรจดตามไปแม้ว่าอาจจะรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็ตาม แต่เมื่อเวลากลับมาอ่านจะพอเข้าใจและระลึกได้)
- ควรทำแบบฝึกหัด กรณีศึกษา รายงานต่างๆ ด้วยตนเอง (กรณีงานเดี่ยว) เพื่อจะได้ฝึกการคิด การเขียน ซึ่งจะมีประโยชน์ในการฝึกเชื่อมโยงการเขียน เวลาที่ทำข้อสอบจะสามารถทำได้ง่ายขึ้นหรือทำร่วมกับเพื่อน (กรณีงานกลุ่ม) เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ ความเข้าใจระหว่างกันเพราะเพื่อนแต่ละคนจะเก็บรายละเอียดได้แตกต่างกัน
- ถ้าไม่มีเหตุจำเป็น ควรเข้าเรียนทุกครั้ง เพราะการเข้าเรียนจะทำให้ได้ฟังตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาอธิบาย จะทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
1.2 การอ่านหนังสือ
- ควรอ่านอย่างตั้งใจ โดยไม่ใช่การอ่านไปเรื่อยๆ หรืออ่านทุกๆ บรรทัด ควรกวาดสายตาเร็วๆเพื่ออ่านจับใจความสำคัญ จับเฉพาะประเด็นที่สำคัญๆ
- เมื่ออ่านจบแต่ละบท ควรปิดหนังสือนึกทบทวนว่า เมื่ออ่านแล้วได้เนื้อหาอะไรบ้าง สร้างมโนภาพขึ้น นึกถึงหน้ากระดาษของหนังสือที่อ่าน คิดนึกตามพร้อมกับหาเทคนิคที่จะทำให้ตนเองเข้าใจในวิธีของตนเอง
- ข้อมูลบางส่วนจำเป็นต้องท่องจำ เช่น ชื่อนักคิด นักทฤษฎี คำศัพท์ที่ควรรู้ สูตรต่างๆ ฯลฯ
- ควรอ่านหนังสือ ทุกเล่มที่อาจารย์สอน โดยอ่านเอาความเข้าใจตัววิชาว่า เราเรียนอะไร ควรจะต้องได้ความรู้อะไร นำไปใช้เพื่ออะไร
- ทำสรุปย่อในแบบฉบับที่ตนเองรู้และเข้าใจ โดยดูในประเด็นที่สำคัญที่ได้จดในห้อง ประกอบกับ Course outline โดยอาจทำเป็น Bar chart หรือ Mind map (ดูวิธีทำ Bar chart และ Mindmap ประกอบ)
- ทำความเข้าใจตัวสรุปย่อให้ลงไปอยู่ในหัวให้ได้ ในการอ่านสรุปย่อต้องอ่านคู่กับหนังสืออาจารย์ทุกเล่มทุกคน เปิดสลับกันไปกันมา
1.3 การจำ
- ควรจำเป็นภาพจะทำให้จำได้ดีกว่าการจำเป็นตัวหนังสือ
- ให้จำ Bar chart และ Mind map เหมือนภาพถ่าย เวลาจะใช้งานจะสามารถนึกเป็นภาพขึ้นในหัวได้ง่ายกว่าการจำตัวหนังสือ
- ใช้วิธีการจำแบบตัวย่อ หรือจำเฉพาะคำศัพท์ภาษาอังกฤษ จะทำให้ใช้หน่วยความจำในสมองน้อยลง แต่สามารถสร้างมโนภาพขึ้นในหัวได้ว่าตัวหนังสือหรือคำศัพท์นั้นเกี่ยวข้อง กับอะไร
- วิธีทำให้จำ คือ ติวให้เพื่อน ผลัดกันติวให้กัน ใช้การติวทุกรูปแบบ ทั้งการพบปะพูดคุยกันจับกลุ่มติว ติวทางโทรศัพท์ โดยผลัดกันอธิบาย คนที่รู้แล้วจะช่วยเสริมให้เพื่อนที่ไม่รู้ ส่วนคนที่ไม่รู้จะได้รู้จุดอ่อนของตัวเองว่ายังไม่รู้ตรงไหน จะได้กลับไปทบทวนเพิ่มเติม
- เวลาอ่านหนังสือถึงประเด็นใด ให้ลองนึกทบทวนว่า ประเด็นนี้อาจารย์ยกตัวอย่างว่าอะไร จะทำให้เกิดการสร้างภาพขึ้นในหัวได้ดี
2. เทคนิคการทำ Bar Chart
1. เริ่มจาก Course outline รวมกับสรุปจากรุ่นและศูนย์ต่างๆ บวกกับที่จดจากในห้อง มาสร้างประเด็นหลักก่อน (แยกทำของแต่ละอาจารย์) สามารถเขียนสมการได้ ดังนี้ Bar Chart = Course outline + all MPA sheet + lecture
2. ใส่รายละเอียดลงในแต่ละกล่อง โดยข้อความต้องสั้น แต่ได้ใจความตามความเข้าใจมากที่สุดสามารถสื่อสารได้ง่าย มีหลักคือให้ดูหนังสือของอาจารย์เป็นหลักในการนำมาย่อความ
3. พยายามใส่ Model ของอาจารย์เนื่องจากการจำเป็นภาพจะง่ายกว่าจำเป็นตัวหนังสือ โดยต้องเชื่อมโยงกับประเด็นหลักให้ได้
4. ควรใส่หมายเลขลงไปในแต่ละกล่อง เพื่อจะได้รู้ขั้นตอนการอ่านว่าควรเริ่มตรงจุดไหนแล้วไปจุดไหนต่อไป
5. ลองอ่านดูหลายๆรอบ หากประเด็นใดไม่ชัดเจน ให้เพิ่มเติมเข้าไป การแก้ไขบ่อยๆ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทำแรก ๆ เนื้อหาจะยังไม่ครบถ้วน
3. เทคนิคการทำ Mind map
- ปัจจุบันมีโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการทำ Mind map ขายแล้ว แม้ว่าจะช่วยทำให้การทำ Mind map ง่ายขึ้น มีสีสันสวยงาม มีตัวการ์ตูนตกแต่งเพื่อช่วยให้การจำง่ายขึ้น แต่ถ้าแพงไม่ต้องลงทุน
อาจ จะเลือกใช้วิธีการทำ Bar chart แทน หรืออาจใช้เครื่องมือที่มีใน Microsoft เช่น กล่องข้อความรูปสัญลักษณ์ ลูกศร เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูล
- ควรทำแยกแต่ละอาจารย์เพื่อให้สามารถมองภาพรวมของอาจารย์แต่ละท่าน โดยเริ่มจากการนำ Course outline และเนื้อหาวิชาที่เรียนว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง
- พยายามจับกลุ่ม และสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาหัวข้อต่างๆ ที่อาจารย์สอน เพราะบางครั้งอาจารย์จะสอนเป็นเรื่องๆ ต้องนำจิ๊กซอว์เหล่านี้มาต่อกันให้ได้
4. เทคนิคการทำข้อสอบ
4.1 ฝึกทำข้อสอบ
- ควรหาข้อสอบเก่าๆ ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี มาทดลองหาคำตอบจากสิ่งที่ได้เรียนและได้อ่านมาเพื่อจะได้เป็นการทดสอบว่าเรา มีความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่านมาหรือไม่ ฝึกเขียนเพื่อสร้างความชำนาญในการเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ การนำองค์ความรู้ (Body of Knowledge : B of K) มาใช้ จะทำให้เมื่อพบข้อสอบจริงจะสามารถเชื่อมโยงได้ง่ายและรวดเร็ว อีกทั้งจะทำให้ทราบว่าตัวเรายังบกพร่องตรงจุดไหนเพื่อจะได้ไปอ่านทบทวนให้ มากขึ้น
4.2 อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ
- ปากกาที่ใช้ควรเป็นสีเข้ม เช่น สีดำ ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้ไม่ปวดตาเวลาที่เขียนข้อสอบนานๆและช่วยให้อาจารย์ตรวจ ข้อสอบของเราได้ง่ายขึ้น เพราะส่วนใหญ่อาจารย์ตรวจข้อสอบในเวลากลางคืน ก็จะทำให้อาจารย์สบายตาเวลาตรวจ และหากอยากให้เขียนได้เร็วและชัดเจน อาจเลือกใช้ปากกาเจล และควรเลือกปากกาที่ตนเองมีความถนัด ไม่ใช่เลือกรูปแบบที่ไม่มีความถนัด เมื่อต้องเร่งเขียนข้อสอบอาจจะเขียนได้ไม่คล่อง
- ไม่ควรใช้ Liquid paper เพราะจะทำให้เสียเวลามานั่งลบ มานั่งคอยให้แห้ง ซึ่งในความเป็นจริง หากมีการเขียนข้อความผิดควรใช้วิธีขีดฆ่าให้เป็นระเบียบ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
- อาจมี Template รูปเรขาคณิต เพื่อช่วยในการวาดรูป เขียน diagram จะทำให้ใช้เวลาน้อยลงส่วนไม้บรรทัดสามารถนำเอาไปใช้ในการเน้นหัวข้อต่างๆ ก็ได้ หรือใช้เป็นตัวช่วยในการขีดฆ่าข้อความที่ไม่ใช้แล้ว
- ไม่ควรใช้ปากกาเน้นข้อความในกระดาษคำตอบ เพราะอาจจะทำให้อาจารย์ต้องใช้สายตามากขึ้น ถ้าอยากเน้นข้อความใดให้ใช้ปากกาสีแดงขีดเส้นใต้ก็พอแล้ว
4.3 ลักษณะข้อสอบ
- เป็นข้อสอบอัตนัย แยกของแต่ละอาจารย์ผู้สอน (ถ้ามีอาจารย์ 3 ท่านจะมี 3 ส่วน แต่ถ้ามี 4 ท่าน ก็อาจจะออกทั้ง 4 ท่านหรือออกเพียง 3 ท่าน) จำนวนข้อสอบต่ออาจารย์หนึ่งท่านไม่มีกฎตายตัวว่าจะมีข้อสอบกี่ข้อ อาจารย์หนึ่งท่านอาจมีข้อสอบข้อย่อย 1-2 ข้อ และในข้อย่อยจะมีหลายคำถามต้องอ่านโจทย์และคำสั่งให้ดี
- ข้อสอบส่วนใหญ่เป็นการทดสอบความสามารถในเชิงวิเคราะห์ คือ นำองค์ความรู้มาใช้ในการตอบโจทย์ มีบางครั้งเท่านั้นที่อาจารย์จะถามตรงๆ และให้ตอบตรงๆ (ต้องการแต่เนื้อ ไม่ต้องการน้ำ)
4.4 สมุดคำตอบ
- สมุดคำตอบจะมีลักษณะเป็นเล่ม เล่มหนึ่งมีจำนวน 8 หน้า ปกจะมี 3 สี คือ เขียว ชมพู และเหลือง โดยแต่ละอาจารย์จะกำหนดไว้ว่าจะต้องใช้สีอะไรสำหรับการเขียนคำตอบ ต้องระวังการเขียนคำตอบสลับอาจารย์ เพราะจะทำให้เสียเวลามากๆ ในการแก้ไข
4.5 การเขียนคำตอบ
- ควรเขียนด้วยตัวหนังสือให้มีขนาดใหญ่ เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่ใช้เวลากลางคืนในการตรวจข้อสอบ จะช่วยให้อาจารย์อ่านได้สะดวก หากลายมืออ่านยากควรเขียนบรรทัดเว้นบรรทัด เพื่อให้อ่านได้ง่ายขึ้น
4.6 วิธีการทำข้อสอบ
- เมื่อเข้าห้องสอบควรรีบอ่านโจทย์ของแต่ละอาจารย์แล้วคิดว่าจะใช้องค์ความรู้ (Body of Knowledge : B of K) อะไรมาตอบ รีบจดสิ่งที่คิดว่าจะนำมาใช้ในการตอบลงไปในข้อสอบก่อน เพื่อที่ว่าเวลาที่เขียนคำตอบจะได้เชื่อมโยงได้เร็ว ไม่ต้องเสียเวลาคิด ควรยอมเสียเวลาประมาณ 15 นาทีในการระลึกถึงองค์ความรู้ทั้งหมดที่จะนำมาใช้ในการตอบ เพราะเมื่อเริ่มลงมือเขียนจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาคิดทบทวนอีก) โดยควรกำหนดโครงเรื่องไว้ว่าจะตอบอย่างไร เริ่มต้นจากอะไร จบลงด้วยอะไรประเด็นใดควรเป็นประเด็นหลัก ประเด็นรอง
- ควรเลือกทำข้อสอบข้อที่คิดว่าทำได้มากที่สุดก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง และข้อสอบข้อที่ทำได้มากที่สุดก็จะได้เป็นตัวช่วยให้ได้คะแนนดี
- ในการอ่านโจทย์ต้องแตกประเด็นให้ได้ว่า ในโจทย์นั้นมีทั้งหมดกี่คำถาม เขียนหมายเลขกำกับไว้ทุกคำถามเพื่อกันลืม และต้องตอบให้ครบทุกประเด็นคำถาม เช่น ถ้าถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ต้องมีคำตอบว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อย่างไร ทำไม (ต้องตอบให้ครบทุกประเด็นที่ถาม)
- วางแผนการใช้เวลาให้เหมาะสม เพราะในการสอบจะกำหนดเวลาไว้ 3 ชั่วโมง คือระหว่างเวลา18.00 – 21.00 น. ดังนั้น ควรใช้เวลาของแต่ละอาจารย์ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาแล้วควรเปลี่ยนไปทำของอาจารย์ท่านอื่น อย่าใช้เวลากับข้อสอบข้อใดข้อหนึ่งนานเกินไป เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการทำข้อสอบข้ออื่นๆ หากมีเวลาเหลือค่อยกลับมาทบทวนหรือเพิ่มเติมหรือทำข้อที่ค้างไว้เพื่อให้คำ ตอบนั้นสมบูรณ์ขึ้น และหาจ ุดบกพร่องที่ควรแก้ไข
- ต้องใช้องค์ความรู้ (Body of Knowledge : B of K) มาเป็นหลักในการตอบทุกครั้ง โดยในการตอบข้อสอบทุกข้อ ต้องเริ่มด้วยองค์ความรู้ ทฤษฎี นักคิด ต่างๆ ก่อน แล้วจึงนำองค์ความรู้นั้นมาประกอบกับการตอบโจทย์
- ในการตอบข้อสอบทุกครั้งจะต้องยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย เพื่อให้คำตอบนั้นมีความชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้อาจารย์เห็นว่าเรามีความเข้าใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่การท่องมาตอบแบบนกแก้วนกขุนทอง
- เมื่อตอบข้อสอบในทุกประเด็นครบแล้ว ตอนจบสุดท้ายควรมีสรุป คือ การสรุปจากประเด็นที่เขียนมาทั้งหมดให้เป็นแบบย่อๆ อีกครั้ง
- ถ้าข้อสอบให้มีการอภิปรายถามความเห็น และจำเป็นต้องใช้คำเรียกแทนตัว ผู้ชายควรใช้ว่า“กระผม” หรือ “ผม” ส่วนผู้หญิงควรใช้ว่า “ดิฉัน” ไม่ควรใช้ว่า “ข้าพเจ้า” เพราะอาจารย์จะไม่ทราบว่าผู้ตอบข้อสอบเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย
- ควรทำข้อสอบทุกข้อแม้ว่าจะมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ไม่มาก ควรพยายามเขียน เพราะการเขียนยังมีโอกาสให้อาจารย์ให้คะแนนบ้าง ถ้าไม่เขียนอะไรเลยอาจารย์ก็ไม่ทราบว่าจะให้คะแนนตรงไหน
- จำนวนหน้าไม่มีผลกับคะแนน การเขียนหลายเล่มแต่มีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อ ไม่มีองค์ความรู้ก็ไม่ได้ทำให้ได้คะแนนดี ความสำคัญอยู่ที่องค์ความรู้ที่เอามาใช้ และต้องตอบให้ครบทุกประเด็น มีเกริ่นนำตอบครบ ยกตัวอย่าง มีข้อเสนอแนะ และสรุป โดยควรเขียนให้กระชับ ไม่วกวน มีเวลาไปทำของอาจารย์ท่านอื่น
4.7 คำแนะนำทั่วไป
- ควรไปถึงห้องสอบก่อนเวลาพอสมควร เพื่อลดความวิตกกังวล และให้สมองได้ผ่อนคลาย
- ควรฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่คุมสอบอย่างตั้งใจ เพราะผู้คุมสอบจะให้ข้อมูลว่าสมุดเล่มใดเป็นของอาจารย์ท่านใด (จะแยกแยะโดยใช้สีสมุด ดังนั้น ห้ามตอบสลับเล่มกันโดยเด็ดขาด) มีข้อสอบทั้งหมดกี่หน้า มีทั้งหมดกี่ข้อ ทำทุกข้อหรือให้เลือกทำ
- เน้นกลุ่มเป้าหมาย ในระหว่างการเรียนควรจับทิศทางให้ได้ว่า อาจารย์แต่ละท่านชอบแนวทางใด สนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ หรือเป็นนักวิชาการด้านใด การตอบในแนวทางที่อาจารย์สนใจ ให้ความสำคัญจะช่วยให้ได้คะแนนดี ไม่นิยมการท่องจำ หนังสือที่จัดให้อ่านมีกี่เล่มต้องอ่าน เพราะอาจนำเนื้อหาจากหนังสือที่ให้อ่านมาถามทั้งๆ ที่ไม่ได้สอนในห้องเรียน
เว็บใหม่ที่ผมขอใช้ฟรีครับ ภาวนาอยู่ว่าวันดีคืนดีข้อมูลคงไม่หายเหมือนเว็บอื่น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น